วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนะนำเที่ยวพะเยา วัดศรีโคมคำ


"พระเจ้าตนหลวง"วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา “วัดศรีโคมคำ” ตั้งอยู่เลขที่ ๖๙๒ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ริมกว๊านพะเยา กว๊านพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำที่มีธรรมชาติงดงาม อยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากบังข้างหลังสูงตระหง่านอย่างงดงามตา คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง “บึง” มีเนื้อที่ ๑๒,๘๓๑ ไร่ มีความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร ลึกที่สุด ๔ เมตร เป็นแหล่งประมงน้ำจืด และเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ กว่า ๕๐ ชนิด เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลานิลปลาไน ฯลฯ ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พะเยาสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึก จากพ่อพันธุ์ในบ่อเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ เป็นแห่งแรกของโลกในปี พ.ศ.๒๕๔๔ สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาบึกได้เป็นแสนตัว ส่วนหนึ่งได้ปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบ กว๊านพะเยาเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ในยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊าน เป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและผู้มาเยือน จนอาจกล่าวได้ว่า หัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่ ‘กว๊านพะเยา

“วัดศรีโคมคำ” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และวัดพัฒนาตัวอย่าง ชาวเมืองพะเยาทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” โดยสร้างขึ้นในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๖๗ “พระเจ้าตนหลวง” เป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง ศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร และสูง ๑๖ เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เดือนหกของทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง ตามตำนาน พระเจ้าตนหลวงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๔ โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น เจ้าอาวาสรูปแรกที่ปรากฏในตำนาน คือ พระธรรมปาล ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่

มีสมุดข่อยบันทึกว่า วัดศรีโคมคำ เป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่ยุคหลัง บ้านเมืองตกอยู่ในสงคราม ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมือง ที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอาราม รกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัยจากจังหวัดลำพูน มาเป็นประธาน ในการสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่างๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง นอกจากนี้ ยังมี
พระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งมวลจากทั่วประเทศ โดยมี “นิยม สิทธหาญ” มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ “จินดา สหสมร” สถาปนิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและวิถีชีวิตผู้คน ฝีมือของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ศิลปินแห่งชาติ และ “ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ”

ชะตาพระเจ้าตนหลวงตามตำนาน กล่าวได้ว่า “พระโมลีใหญ่ ๒๐ กำมือ สูง ๓ ศอก พระเศียรกลม ๖ วา พระเกศามี ๑,๕๐๐ เส้น ขนาดใหญ่ ๔ กำมือ ขนาดกลาง ๓ กำมือ ขนาดเล็ก ๒ กำมือ ขนาดจิ๋ว ๑ กำมือ พระพักตร์หน้ายาว ๒ วา กว้าง ๒ วา พระขนง (คิ้ว) ๓ ศอก ระหว่างพระขนงกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอก กว้าง ๑ คืบ ดั้งพระนาสิก ๓ ศอก ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระโอษฐ์ (ปาก) ยาว ๔ ศอก กว้าง ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระกรรณ (หู) ยาว ๖ ศอก กว้างศอกคืบ พระศอยาว ๒ ศอก กลม ๓ วา พระอังสา (บ่า) ยาว ๓ คืบ กระดูกด้ามมีดยาว ๔ วา ตั้งแต่พระอุระ (อก) ถึงพระชานุ (คาง) ๒ วา ตั้งแต่พระถัน (นม) ถึงพระอังสา (ไหล่) ๒ วา ตั้งแต่พระนาภี (สะดือ) ถึงพระอุระ (อก) ๒ วา ระหว่างพระอุระ (อก) กว้าง ๒ วา พระพาหา (แขน) ยาว ๔ วา กลม ๒๙ กำมือ นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ ๙ กำมือ ยาว ๑ วา พระกฏิ (สะเอว) กลม ๗ วา ฝ่าพระบาทยาว ๒ วา กว้าง ๓ ศอก ระหว่างพระชานุกว้าง ๗ วา พระหทัยใหญ่ ๖ กำมือ ตั้งแต่ที่ประทับนั่งถึงพระโมลี สูง ๘ วา ๒ ศอก”
“พระเจ้าตนหลวง” หรือ “พระเจ้าองค์หลวง” มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย ในช่วงเดือนหกของทุกปี ประมาณเดือนพฤษภาคม ตรงกับวันวิสาขบูชา จะมี งานนมัสการพระเจ้าตนหลวง หรือ เทศกาล “แปดเป็ง” จะมีประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อครั้งสมัยที่ยุคทองทางพระพุทธศาสนาของล้านนา ประชาชนจึงเชื่อว่าพระเจ้าตนหลวง คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ใครที่ได้มากราบสักการะแล้ว จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลอยู่ดีมีสุขตลอดไป


 

วัดบุญยืน

พระครูภาวนาธิคุณ (ครูบาอินโต คนฺธํวโส)
ดินแดนแห่งแผ่นดินลานนา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เป็นดินแดนที่ร่ำรวยมั่งคั่งด้วยศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความรุ่งเรื่องทางพุทธศาสนาบนดินแดนแถบนี้มาช้านาน ปัจจุบันยังปรากฏโบราณสถานโบราณวัตถุเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในอดีต ณ ดินแดนแห่งนี้ได้อย่างดี วิวัฒนาการด้านศาสนาของเมืองพะเยา พระเถราจารย์ล้วนเป็นผู้ที่บทบาทโดยตรงในการทะนุบำรุง ดังจะเห็นได้จากการสืบสานประวัติพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา จากพระธรรมปาละเถระ การจารึกในศิลาหินทรายของวัดต่างๆ การแต่งหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเภระ การบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ตลอดจนการเขียนหนังสือท้องถิ่นของหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี(เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าตนหลวงองค์ปัจจุบัน)   พระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงทางวิปัสสนาธุระจนเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของชาวเมืองพะเยาถ้วนหน้า อาทิ ครูบาปัญญาปัญโญ  ครูบาแก้ว คันธะวังโส แห่งวัดพระเจ้าตนหลวง และครูบาอินโต คันธะวังโส แห่งวัดบุญยืน  โดยเฉพาะครูบาอินโต คันธะวังโส หรือพระครูภาวนาธิคุณ นับเป็นพระเถราจารย์ที่ชาวพะเยาให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการออกเหรียญรุ่นแรกที่สร้างเมือง ปี พ.ศ.2508 นั้น นับเป็นเหรียญที่มีการกล่าวเล่าลือถึงความขลังศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลของผู้ได้ครอบครองบูชา กระทั่งมีความต้องการและแสวงหาของผู้คนทั่วไปอยู่ทุกวันนี้

ประวัติวัดบุญยืน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา
วัดบุญยืน เดิมชื่อ วัดสร้อยคำ สร้างเมื่อ พ.ศ.2410 ปีมะแม จ.ศ.2649 ร.ศ.126 วัดสร้อยคำตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดบุญยืนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันที่ดินของวัดสร้อยคำ ได้กลายเป็นที่ดินของชาวบ้านไปหมดแล้ว ต่อมาทางวัดบุญยืนโดยมีเจ้าอาวาสและคณะศรัทธา ได้พร้อมกันย้ายวัดมาตั้งอยู่ที่ใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.2450 โดยเอาที่ดินของวัดสร้อยคำเดิมแลกเปลี่ยนกับที่ดินของ พ่ออุ้ยตื้อ เบิกบาน และเนื่องจากที่ดินของวัดยังคับแคบ ทางวัดจึงได้ขยายที่ดินให้กว้างออกไปโดยได้ซื้อที่ดินของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3 ไร่ 1 งาน โฉนดเลขที่ 91 เป็นจำนวนเงิน 7 แถบหรือรูปีย์(เงินแถบเป็นเงินที่ใช้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1-2) และได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสร้อยคำ มาเป็น วัดศรีบุญยืน และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดบุญยืน มาจนปัจจุบันนี้  วัดบุญยืน มีอาณาเขตที่ล้อมรอบด้วยทางสาธารณะประโยชน์ โดยภายในวัดมีอาคารและเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ 1 หลัง วิหารพระพุทธชินราชจำลอง 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง มณฑปที่ประดิษฐานรูปเหมือนครูบาอินโต 1 หลัง พระธาตุเจดีย์ 1 องค์ กุฏิสงฆ์ 6 หลัง จำนวน 17 ห้อง โรงครัว 1 ห้อง หอระฆัง 2 หลัง

วัดไชยอาวาส

สถานที่ตั้งของวัด   วัดไชยอาวาสตั้งอยู่เลขที่ 2 บ้านประตูเหล็ก ถนนราชวงศ์ หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดไชยอาวาส เดิมชื่อ วัดปักคำ หรื วัดประตูเหล็ก  เดิมเป็นวัดร้าง วัดไชยอาวาส ตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืิอง ซึ่งทำด้วยเหล็กล้วน  ชาวบ้านจึงเรียกตามว่า วัดประตูเหล็ก  แต่ปัจจุบันประตูเหล็กได้ชำรุดไปนานแล้ว
วัดไชยอาวาส เป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดหลวงสัณฐาน ซึ่งอยู่ใกล้เคีียงกัน  ในสมัยข้าหลวงวงศ์ได้เข้ามาปกครองเมืองพะเยา  และได้มาบูรณะซ่อมแซมวัดไชยอาวาส และวัดหลวงราชสัณฐาน และได้นิมนต์พระอินทจักร์ มาเป็นเจ้าอาวาส วัดประตูเหล็ก( วัดไชยอาวาสในปัจจุบัน) และได้นิมนต์พระำภิกษุอันทร์ อินโธ มาจากเมืองลำปาง มาเป็นเจ้าอาวาส  วัดหลวงสัณฐาน ทั้งสองวัดจึงเป็นวัดพี่วัดน้องมาแต่โบราณ วัดไชยอาวาส และวัดหลวงราชสัณฐาน ทั้งสองวัดจะมีประเพณีนำเอา อาหาร ขนม มาแลกเปลี่ยนกัน ในวันสำคัญทางศาสนาเช่น วันเข้าพรรษา วันสงกรานต์ หรือวันปี๋ใหม่เมือง  เป็นประจำทุกปี
อาคารเสนสนะ ประกอบด้วยอุโบสถศาลาการเปรียญ  วิหาร กุฎิ
ปูชนีย์วัตถุ ประำกอบด้วยเจดีย์

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดหลวงราชสัณฐาน

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

วัดหลวงราชสัณฐาน จ. พะเยา


 วัดหลวงราชสัณฐาน (วัดขี้เหล็ก) ต. เวียง อ.เมือง จ. พะเยา เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในวิหาร แต่วิหาร เก่าแก่มากตามประวัติสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1717วิหารโดนพายุ พัดพังลง เมื่อประมาณ ปี 2527ภาพภาพจิตรกรรมฝาผนังเสียหายพังไปมากภาพที่เหลือได้ถูก ซ่อมแซม และนำไปติดตั้งไว้ที่ฝาผนังในวิหารที่สร้างขึ้นมาใหม่ (ปัจจุบัน)

  


* ภาพวิหารถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2526 ก่อนที่จะพังทลาย ปีเดียว


วิหารเป็น ทรงลดหลั่นของหลังคา 3 ชั้นใช้แป้นเกล็ดมุงหลังคา   คันทวยที่ชายคาเป็นไม้แกะฝีมือละเอียดสวยงานมาก

เคยลองเดินดูรอบๆ ไม่ซ้ำลายกันเลย  ผนังด้านหน้าเลยที่ก่อปูนไปจะเป็นไม้ลายเมฆไหลช่วงบนวิหารทั้งหมดเป็นเครื่องไม้   ใช้เสาไม้กลมขนาดใหญ่ทาสีแดง   ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นำมาให้ชมนี้ เป็นภาพถ่ายช่วงประมาณปี 2521


โดยข้าพเจ้า ขณะนั้นได้ทำงานที่ งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง  กองโบราณคดี  กรมศิลปากรและได้ร่วมงานปฏิบัติงาน อนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่วัดหลวงราชสัณฐานแห่ง นี้   ขณะนั้นได้ บันทึกหลักฐาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ทั้งหมด  ผู้ถ่ายเป็นหัวหน้าใหญ่ขณะนั้น  คือคุณอาภรณ์  ณ สงขลา     จะใช้กล้อง Hasselblad    และพวกข้าพเจ้าทีมงาน   ก็วัดแสง     และรีเฟล็กสะท้อนให้แสง

โดยใช้กระดาษสีเงินปะติดแผ่นไม้อัด เนื่องจากจะไม่ใช้ไฟแฟล็ช เพราะมีผลกระทบต่อตัวภาพจิตรกรรม

แต่ภาพที่นำมานี้ มิใช่ต้นฉบับ   เป็นภาพสแกนจากหนังสือของ กรมศิลปากร 




    เนื่องจากเป็นวิหารที่เป็นผนังปูนผสมไม้จึงมีการเขียนในพื้นที่  และวัสดุที่ หลากหลาย เช่น

   1.เขียนบนผนังปูนด้วยสีฝุ่น

   2.บริเวณที่เป็นไม้จะเขียนบนกระดาษสา และ ผ้า ปะปิดลงไปบนไม้

   3.เขียนบนเสาไม้
                                        



  


* ภาพซ้ายจะเห็นเป็นงานเขียนบนผ้า  ปิดบนผนังไม้


เนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรม จะเป็นมหาชาติ พุทธประวัติ  ภาพนรกสวรรคภาพธรรมชาติ ชุมชนชาวบ้าน

 


 


 








* ภาพแสดงวิถีชาวบ้าน ภาพนี้  จะสังเกตภาพวิหารคล้าย วิหารหลังนี้










 


                                                                        สภาพการพังทลาย ของวิหารวัดหลวงราชสัณฐาน ในปี พ.ศ.2527

 









ภาพวิหาร วิหารวัดหลวงราชสัณฐาน ปัจจุบันมีการสร้างขึ้นมาใหม่

 อนุรักษ์ ให้เหมือนวิหาร ของเดิม

 รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่ปิดเข้าไปกับผนังวิหารใหม่







เห็นเวลาล่วงเลย  มานานมาก   ไม่ค่อยได้พบเห็นเรื่องราว จากสื่ออื่นๆ มากนัก
จึงอย่างจะเผยแพร่ภาพ จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้   ให้ได้เห็นกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่ๆ คงไม่เคยเห็น

อ้างอิง : ศิลปากร :  นิตยาสารของกรมศิลปากร . ปีที่ 28 เล่ม 4 กันยายน 2527
ที่มาhttp://lannaartist.rmutl.ac.th/index.php?md=content&id=347&jb=view

วัดราชคฤห์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมือง มีบรรยากาศสงบร่มรื่น ภายในวัดประดิษฐานเจดีย์องค์ไม่ใหญ่นักแต่งามน่าแวะเที่ยวชม ความโดดเด่น คือ ซุ้มประตูโขงและเจดีย์อันงดงาม ซุ้มประตูโขงเป็นซุ้มประตูทางเดินเข้าสู่วัด ประดับด้วยปูนปั้น นางฟ้าเทวดา พญานาค และดอกไม้ ลวดลายโดดเด่นสะดุดตา ยอดซุ้มประตูเป็นรูปพรหมสี่หน้า เจดีย์อยู่ด้านหลังโบสถ์ เป็นทรงแปดเหลี่ยมย่อมุม สูงประมาณ ๒๐ เมตร องค์เจดีย์มีซุ้มจระนำและเจดีย์บริวารทั้งสี่ทิศตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ลานประทักษิณรอบเจดีย์กว้างด้านละ ๑.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ประตูทางเข้ามีสี่ด้าน มีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตูทุกด้าน นับเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาที่สวยงามของเมืองพะเยา

--------------------------------------------------------------------------------

เครื่องคั่วมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร

เครื่องคั่วมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร
เล็กพริกขี้หนูคั่วใหม่ทุกวันทุกครั้งที่สั่งเมล็ดกาแฟ cowboy coffee แนะนำร้านกาแฟแด่ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม

แนะนำกาแฟ

COWBOY COFFEE ผลิต และจำหน่ายกาแฟคาวบอย กาแฟคั่วARABICA 100% กิโลกรัมละ 300 .- ARABICA BIEND ระดับการคั่วในรูปแบบมาตรฐานCOWBOYCOFFEE ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ t.0812880752 t.0867299798