
พระครูภาวนาธิคุณ (ครูบาอินโต คนฺธํวโส)
ดินแดนแห่งแผ่นดินลานนา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เป็นดินแดนที่ร่ำรวยมั่งคั่งด้วยศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความรุ่งเรื่องทางพุทธศาสนาบนดินแดนแถบนี้มาช้านาน ปัจจุบันยังปรากฏโบราณสถานโบราณวัตถุเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในอดีต ณ ดินแดนแห่งนี้ได้อย่างดี วิวัฒนาการด้านศาสนาของเมืองพะเยา พระเถราจารย์ล้วนเป็นผู้ที่บทบาทโดยตรงในการทะนุบำรุง ดังจะเห็นได้จากการสืบสานประวัติพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา จากพระธรรมปาละเถระ การจารึกในศิลาหินทรายของวัดต่างๆ การแต่งหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเภระ การบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ตลอดจนการเขียนหนังสือท้องถิ่นของหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี(เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าตนหลวงองค์ปัจจุบัน) พระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงทางวิปัสสนาธุระจนเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของชาวเมืองพะเยาถ้วนหน้า อาทิ ครูบาปัญญาปัญโญ ครูบาแก้ว คันธะวังโส แห่งวัดพระเจ้าตนหลวง และครูบาอินโต คันธะวังโส แห่งวัดบุญยืน โดยเฉพาะครูบาอินโต คันธะวังโส หรือพระครูภาวนาธิคุณ นับเป็นพระเถราจารย์ที่ชาวพะเยาให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการออกเหรียญรุ่นแรกที่สร้างเมือง ปี พ.ศ.2508 นั้น นับเป็นเหรียญที่มีการกล่าวเล่าลือถึงความขลังศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลของผู้ได้ครอบครองบูชา กระทั่งมีความต้องการและแสวงหาของผู้คนทั่วไปอยู่ทุกวันนี้
ประวัติวัดบุญยืน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา
วัดบุญยืน เดิมชื่อ วัดสร้อยคำ สร้างเมื่อ พ.ศ.2410 ปีมะแม จ.ศ.2649 ร.ศ.126 วัดสร้อยคำตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดบุญยืนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันที่ดินของวัดสร้อยคำ ได้กลายเป็นที่ดินของชาวบ้านไปหมดแล้ว ต่อมาทางวัดบุญยืนโดยมีเจ้าอาวาสและคณะศรัทธา ได้พร้อมกันย้ายวัดมาตั้งอยู่ที่ใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.2450 โดยเอาที่ดินของวัดสร้อยคำเดิมแลกเปลี่ยนกับที่ดินของ พ่ออุ้ยตื้อ เบิกบาน และเนื่องจากที่ดินของวัดยังคับแคบ ทางวัดจึงได้ขยายที่ดินให้กว้างออกไปโดยได้ซื้อที่ดินของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3 ไร่ 1 งาน โฉนดเลขที่ 91 เป็นจำนวนเงิน 7 แถบหรือรูปีย์(เงินแถบเป็นเงินที่ใช้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1-2) และได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสร้อยคำ มาเป็น วัดศรีบุญยืน และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดบุญยืน มาจนปัจจุบันนี้ วัดบุญยืน มีอาณาเขตที่ล้อมรอบด้วยทางสาธารณะประโยชน์ โดยภายในวัดมีอาคารและเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ 1 หลัง วิหารพระพุทธชินราชจำลอง 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง มณฑปที่ประดิษฐานรูปเหมือนครูบาอินโต 1 หลัง พระธาตุเจดีย์ 1 องค์ กุฏิสงฆ์ 6 หลัง จำนวน 17 ห้อง โรงครัว 1 ห้อง หอระฆัง 2 หลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น